อยาก...เป็นเจ้าของธุรกิจ ต้อง “รู้” อะไรบ้าง
หลายคนเมื่อเรียนสำเร็จหรือหลังจากทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนมาได้ระยะหนึ่ง คงถึงเวลาค้นหาความฝัน อยากผันตัวไปทำธุรกิจของตัวเอง แต่พวกเขาเหล่านี้อาจยังไม่รู้เลยว่าจะทำธุรกิจอะไร ควรเริ่มต้นจากจุดไหน แล้วต้องบริหารอย่างไรให้อยู่รอดและไปได้ด้วยดี โอกาสนี้ ìธนาคารกสิกรไทยî มีข้อแนะนำน่าสนใจมาฝากไว้ให้เหล่า SMEs มือใหม่...ทั้งหลาย
ความสำเร็จเริ่มต้นที่ความคิด
แบบทดสอบง่ายๆ เพื่อเป็นการประเมินตัวเองว่า คุณมีคุณสมบัติเหมาะสมมากน้อยเพียงใดกับการที่จะก้าวเข้ามาสู่ความเป็นผู้ประกอบการ
ข้อ 1 เวลาหลับตาฝันกลางวัน คุณมองเห็นตัวเอง
คำตอบ A เป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ตามใจต้องการ
คำตอบ B ทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ความมั่นคงสูง
ข้อ 2 เมื่อมีงานประดังเข้ามามากๆ คุณมักจะ
คำตอบ A ยุ่งมากแค่ไหนก็ยังสบายอยู่
คำตอบ B งงๆ สับสน ผิดพลาดเสมอ
ข้อ 3 ก่อนที่จะเริ่มทำงานสักอย่างหนึ่ง คุณเตรียมตัวอย่างไร
คำตอบ A หาข้อมูล ขบคิด วางแผน
คำตอบ B ทำเลย จะรออะไร คิดไปทำไปก็ได้
ข้อ 4 คุณรับมือกับมนุษย์ที่ชอบก่อปัญหาอย่างไร
คำตอบ A ชักแม่น้ำทั้ง 5 ตะล่อมด้วยเหตุและผล
คำตอบ B เลือดขึ้นหน้า พูดจาโผงผาง
ข้อ 5 ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง คุณมักจะ
คำตอบ A มั่นใจ มั่นคง และเดินตามที่เลือกแล้ว
คำตอบ B ลังเล ลีลา อยากหาที่ปรึกษา
...ถ้าคำตอบสวนใหญ่เป็น A แปลว่าคุณมีคุณสมบัติเข้าข่ายที่จะเป็นผู้ประกอบการได้ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกคำตอบ A หรือ B เป็นส่วนใหญ่ อย่าเพิ่งดีอกดีใจหรือน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะนี่เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น เพราะหลังจากวัดใจตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้
แน่ใจนะว่าคุณผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์คนซื้อ, ผลิตแล้วคุณรู้เรื่องการทำตลาดดีพอ, ลูกค้าของคุณคือใคร, แล้วคุณจะเข้าถึงลูกค้าที่ว่าของคุณด้วยช่องทางไหน, ลูกค้าของคุณยอมจ่ายเงินเพื่อสินค้าของคุณหรือเปล่า
คุณบริหารต้นทุนให้เหมาะสมได้ไหม, คุณมีทรัพยากรทั้งหลายที่จะทำให้กิจการนี้เกิดขึ้นได้ไหม, สินค้ามีจุดเด่นอะไรที่จะดึงดูดให้ลูกค้าซื้อ, คุณสามารถก้าวขึ้นแท่นผู้นำในธุรกิจนี้หรือไม่, แล้วจะเริ่มต้นตรงไหนดีล่ะ หากคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ทุกข้อ จะรีรออะไรอยู่ ได้เวลาลุยแล้วล่ะ!
เปิดประตูก้าวสู่โลกธุรกิจ
รูปแบบธุรกิจ หลักๆ แล้วมี 4 แบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบใด จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนี้
1. สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง
สามารถคิด เลือก ตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ตัดสินใจและปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว แต่ต้องพร้อมที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีความเสี่ยงสูง เหมาะกับคนเจ้าความคิด มีแผนธุรกิจชัดเจน และมีเงินทุนสูง
2. ซื้อกิจการต่อจากผู้อื่น
ไม่ต้องเปลืองเวลาเริ่มต้นนับหนึ่ง มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องพึงระวังว่าเจ้าของเดิมอาจเปิดธุรกิจแข่ง และต้องพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาอย่างละเอียด เหมาะกับคนที่เห็นโอกาสทำกำไรในธุรกิจชัดเจน หรือต้องการต่อยอดจากธุรกิจประเภทใกล้เคียงกัน
3. เข้าไปรับช่วงกิจการ
ถ้าธุรกิจดีอยู่แล้ว ไม่ต้องลงแรงมาก และมีฐานลูกค้าเดิมอยู่ ส่วนใหญ่เป็นการรับช่วงจากธุรกิจครอบครัวไม่น่ามีปัญหาอะไรมาก เพราะสามารถปรึกษากันในครอบครัวได้ แต่อาจต้องสะสางปัญหาเดิมที่ค้างอยู่ เหมาะกับธุรกิจครอบครัวหรือคนที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจมากพอควร
4. การซื้อแฟรนไชส์
เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีเงินทุนพอควร หรือต้องการเปิดแฟรนไชส์เป็นอาชีพเสริม จุดเด่นของรูปแบบนี้ คือ ไม่ต้องใช้เวลาศึกษามาก และแบรนด์มักเป็นที่รู้จัก สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ง่าย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่ม เช่น Royalty fee หักเปอร์เซ็นต์ของรายได้ และต้องดำเนินธุรกิจตามข้อกำหนด